มีน้องๆ คนไหนเคยได้ยิน หรืออยากเข้าเรียน คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน บ้างไหมคะ วันนี้เราจะพูดถึงคณะนี้และความเข้าใจหลายๆ อย่าง ที่ทั้งน้องๆ และผู้ปกครองหลายคนอาจจะยังเข้าใจผิดอยู่ ทั้งชื่อคณะ การเรียน หรือแม้แต่ JC กับ BJM ว่าต่างกันยังไงด้วยค่ะ 

วารสารฯ vs. นิเทศฯ  แว้บแรกที่ได้ยิน หลายๆ คนโดยเฉพาะผู้ใหญ่มักจะคิดว่าคณะวารสารฯ นั้นเรียนเกี่ยวกับการทำหนังสือ วารสาร นิตยสาร หรือจบไปทำงานเป็นบรรณารักษ์หรือเปล่า อะไรประมาณนี้  อืม…จะว่าผิดทั้งหมดก็ไม่ใช่นะคะ เพราะมีการเรียนเกี่ยวกับทำหนังสือ นิตยสารจริง ในสาขาวารสารศาสตร์  แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด เอาเป็นว่าจริงๆ แล้วคณะวารสารฯ ก็แทบจะเหมือนกัน และพี่น้องกับคณะนิเทศฯ นั่นเองแหละค่ะ   เพียงแต่เป็นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นแห่งเดียวที่เลือกใช้ชื่อคณะว่า “วารสารศาสตร์” แทนที่จะเป็นนิเทศศาสตร์ เดิมทีแล้ว คณะนี้เป็นเพียงแผนกวารสารศาสตร์ ที่อยู่ภายใต้คณะสังคมสังเคราะห์ฯ มธ.เท่านั้น  แต่เป็นแผนกแรกในประเทศที่มีการเรียนการสอนวิชาเกี่ยวกับสื่อสารมวลชน ซึ่งในขณะนั้นจะเรียนเกี่ยวกับสื่อหลักในประเทศอย่างหนังสือพิมพ์ สิ่งพิมพ์ จึงเป็นที่มาของชื่อวารสาร จนภายหลังได้รับการยกฐานะเป็นคณะในปี พ.ศ.2522 แต่ยังคงใช้ชื่อเดิมคือ วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชนอยู่ไม่ได้เปลี่ยนไปใช้คำว่า นิเทศศาสตร์ ที่ถูกบัญญัติขึ้นมาภายหลัง สรุปง่ายๆ ก็คือต่างกันแค่ชื่อนะคะ เพราะคณะวารสารฯ มธ.ก็แบ่งออกเป็นเอกต่างๆ ทั้ง บริหารการสื่อสาร, วิทยุและโทรทัศน์, โฆษณา, วารสารศาสตร์, สื่อสารองค์กร, ภาพยนตร์และภาพถ่าย เช่นเดียวกับคณะนิเทศศาตร์ของมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่นกัน แต่อาจจะต่างกันที่รายละเอียดหลักสูตรตามแต่ละมหาวิทยาลัยนะคะ

—–

JC vs. BJM

หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินชื่อย่อของเด็กๆ ที่เรียนคณะวารสารฯ ที่มักเรียกตัวเองว่า เด็กเจซี หรือ เด็กบีเจเอ็ม เอ้า! อยู่คณะเดียวกัน แต่มีสองชื่อ ยังไงแล้วซิ… อธิบายง่ายๆ เลยก็คือ JC ย่อมาจาก Journalism & Mass Communication หรือเด็กภาคไทย ส่วน BJM ย่อมาจาก Bachelor of ARTS Program in Journalism and Mass Communication หรือเด็กภาคภาษาอังกฤษนั่นเองซึ่ง JC จะสามารถเลือกเอกได้ ตาม 6 เอกข้างต้นนะคะ ปี 1-2 เรียนตัวพื้นฐานคณะ และมหาวิทยาลัย พอขึ้นปี 3 ก็จะเลือกเอกและเข้าเอกนั้นๆ เต็มตัว แต่ BJM จะต่างกันตรงที่เรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด และไม่ต้องเลือกเอก จะเน้นเรียนแบบบูรณาการศาสตร์และศิลป์ทั้งหมดเข้าด้วยกัน เพื่อนำไปประยุกต์ สร้างสรรค์ ผลิตไปจนถึงบริหารสื่อได้เลยโดย ปี1-2 จะเน้นเรียนตัวพื้นฐานสื่อสารมวลชน พอขึ้นปี 3 ปุ๊บจะได้เรียนตัวบังคับที่จัดเต็มมาเหมือนรวมทุกเอกทั้งด้านทฤษฎีการสื่อสาร การเขียนข่าว รายงานข่าว หนังสือพิมพ์ วิทยุ-โทรทัศน์ ภาพยนตร์ การเขียนบท สื่อสารการตลาด การผลิตสื่อ เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถเลือกเรียนวิชาเกี่ยวการสื่อสารที่น่าสนใจเองได้ด้วย (อ้างอิงจาก http://www.jc.tu.ac.th/และเน้นการทำงานกลุ่ม หรือผลิตชิ้นงานเพื่อเก็บคะแนนจากการทำงานจริงค่ะ

นอกจากนี้ก็เป็นวิธีสอบเข้าที่แตกต่างกันออกไปค่ะ การทำกิจกรรมในคณะ ถึงจะเรียนไม่เหมือนกัน ไม่ได้เจอกันในห้องเรียนเท่าไร แต่สำหรับกิจกรรมในคณะ เราไม่มีเส้นแบ่งนะคะ ไม่ว่าน้องๆ จะเรียน JC หรือ BJMเราก็คือชาววารสารฯ เหมือนกัน สามารถร่วมสนุกกับทุกกิจกรรมได้เหมือนกันทั้งหมด แล้วแต่ตารางเรียนที่ว่าง และความสมัครใจได้เลย แม้ว่าเพื่อนๆ BJM อาจจะมีจำนวนน้อยกว่า JC แต่หลายๆ รุ่นก็เป็นเพื่อนกัน ทำกิจกรรมด้วยกัน สนิทสนมกันโดยไม่ได้แบ่งแยก ไม่ต้องเป็นกังวลในจุดนี้ และที่สำคัญในวันรับปริญญา พวกเราก็สวมชุดครุยพาดแถบสีม่วงเม็ดมะปรางเหมือนกัน และถ่ายรูปกับป้ายคณะเหมือนกันเพราะฉะนั้น ชอบหลักสูตรแบบไหนก็ลองเลือกแบบที่เหมาะกับตัวเองได้เลยนะคะ

—–

#TheCoach #เดอะโค้ช #บทความดีๆจากเดอะโค้ช #TheCoachStory #JC #BJM #TU #วารสารมธ #ธรรมศาสตร์ #Thammasat