เชื่อว่าแค่พูดว่า “ฟิสิกส์” แก๊งเด็กสายศิลป์หรือบรรดาเด็กสายคำนวณ (คืออะไรสมองไม่รับไม่รู้) เลขไม่เอา ฟิสิกส์ไม่ไหวคงเบ้หน้ากันเป็นแถว เอาเป็นว่าวันนี้ลองมาเปิดใจฟังกันสักหน่อยดีไหมคะ ว่าถ้าเราเรียนฟิสิกส์แล้ว จะมีประโยชน์กับชีวิตเรา จนไม่ต้องคอยถามอาจารย์อยู่ตลอดว่าเรียนไปทำไม? อีกต่อไป 

รู้เท่าทันไม่แชร์ข่าวปลอม เอาแบบเบสิคพื้นฐานเลยนะคะ ถ้าเรามีความรู้ทางวิทยาศาสตร์หรือแนวความรู้ด้านฟิสิกส์มาบ้าง เอาไม่ต้องถึงขั้นรู้ลึก แค่เข้าใจเรื่องการตั้งสมมติฐาน หลักการคิดอย่างเป็นระบบ เป็นเหตุเป็นผล หรือเรียกง่ายๆ ว่าตรรกะไม่พัง ก็ทำให้เราเป็นคนที่น่าคบหา น่าพูดคุยด้วย เพราะเป็นคนพูดรู้เรื่อง อยู่บนพื้นฐานของความจริง เป็นหลักในการทำงานของทุกสายอาชีพเลยนะคะ หรือถ้าใครแอดวานซ์ขึ้นมาหน่อย เราก็คงจะรู้ว่าทำไมแม่ชีถึงลอยน้ำไม่ได้ บั้งไฟพญานาคเป็นไปจริงหรือเปล่า GT200 ตรวจจับระเบิดได้จริงหรือจกตา รอยพญานาคมีจริงหรือไม่ กินน้ำศักดิ์สิทธิ์รักษาโรคได้จริงเหรอ เป็นต้น เห็นไหมคะว่าถ้าเรามีความรู้ทางฟิสิกส์หรือวิทยาศาสตร์แม้เพียงน้อยนิด เราก็ดูเป็นคนน่าเชื่อถือ ไม่เชื่อข่าวลือได้พอตัวแล้วนะ 

ชีวิตดีด้วยฟิสิกส์ ข้อนี้อาจจะไม่ต้องทำเอง แต่เรามายกตัวอย่างใกล้ๆ ตัวให้เห็นว่าชีวิตรประจำวันของเรา สามารถดีขึ้นได้ด้วยฟิสิกส์ยังไงได้บ้าง อย่างเช่น การเปลี่ยนหลอดไฟในระบบแอลอีดี ซึ่งมาทดแทนหลอดเรืองแสงแบบเดิมที่เป็นหลอดบรรจุก๊าซ ที่พอเปลี่ยนเป็นหลอดแอลอีดี ซึ่งใช้กับแรงดันไฟบ้านได้โดยตรง และไม่มีแก๊สบรรจุภายใน เราก็ไม่จำเป็นต้องใช้บัลลาสต์และสตาร์ตเตอร์ แถมหลอดแอลอีดีสมัยใหม่จะใช้หลักการแม่เหล็ก ในการยึดติดกับแผ่นยึดที่เป็นโลหะ ทำให้ไม่ต้องใช้น็อตและสกรูในการยึดติดหลอดอีกต่อไป สวยเพรียวสมใจใช้งานได้นานเว่อร์  

เป็นต่อในสาขาอาชีพ อันนี้อาจจะจำเป็นสำหรับคนที่เลือกเรียนต่อในสายวิชาชีพแนววิทยาศาสตร์ซึ่งต้องมีฟิสิกส์มาเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อยนะคะ ยกตัวอย่างเช่น วิศวกรรมศาสตร์ อันนี้เรียกว่าเต็มๆ เพราะแทบจะทุกภาควิชาต้องเรียนวิชา Statics หรือ สถิตยศาสตร์ ซึ่งเป็นการศึกษากลศาสตร์ของวัตถุที่อยู่ในสภาวะสมดุล ซึ่งต้องใช้ความรู้เรื่องกฎการเคลื่อนที่ข้อที่หนึ่งของนิวตัน และสมดุลทางการหมุน ซึ่งเป็นพื้นฐานทางฟิสิกส์ที่เราต้องเรียนกันในระดับมัธยมปลาย ถ้าน้องมีความรู้ความเข้าใจในหัวข้อนี้เป็นอย่างดี ก็สามารถต่อยอดให้เรียนวิชานี้ดีขึ้น หรืออย่าง วิศวกรรมไฟฟ้า จะต้องมีการเรียนเรื่องการวิเคราะห์ทางวงจรไฟฟ้า  (Circuit Analysis) ถ้าน้องๆ มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องวงจรไฟฟ้ากระแสตรงเป็นอย่างดี เกี่ยวกับการแบ่งแรงดันทางไฟฟ้าและการแบ่งการไหลของกระแสไฟฟ้า ก็สามารถทำให้เรียนการวิเคราะห์วงจรได้ง่ายขึ้นกว่าคนอื่น หรือเทรนด์ใหม่มาแรงอย่างนาโนวิศวกรรม ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับสมบัติทางฟิสิกส์ ของวัสดุที่มีขนาดเล็กระดับนาโนเมตร ก็ต้องใช้ความรู้ฟิสิกส์พื้นฐานทางด้านฟิสิกส์อะตอมและฟิสิกส์ควอนตัม ถ้ามีพื้นฐานก็สามารถทำให้การเรียนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไม่เว้นแม้กระทั่งการเรียนในสายวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น การเรียนแพทย์ เพื่อการเป็นคุณหมอที่ดีในอนาคต สถาบันที่ผลิตแพทย์ชั้นแนวหน้าของเมืองไทย เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์รามาธิบดี มหิดล ก็บรรจุวิชาฟิสิกส์เป็นวิชาบังคับที่นิสิตนักศึกษาทุกคนต้องเรียน ซึ่งถ้ามีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานทางด้านฟิสิกส์ เช่น กลศาสตร์ของไหล คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า พลังงานความร้อน ก็สามารถที่จะเรียนได้ประสบความสำเร็จ และยังสามารถต่อยอดนำเทคโนโลยีทางฟิสิกส์ไป ประยุกต์กับนวัตกรรม ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยได้อีกด้วย เช่น เทคโนโลยี MRI  นิวเคลียร์เทคโนโลยีในการรักษามะเร็ง เป็นต้น